การปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีขององค์กรอย่างต่อเนื่อง

กระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกองค์กรไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้ เพราะการอยู่นิ่งเฉยตลอดเวลาก็เปรียบเสมือนการปล่อยให้องค์กรค่อยๆ ล้าสมัยและเสื่อมสภาพไปพร้อมกับกาลเวลาที่ผันผ่าน

หน่วยงานหรือธุรกิจที่ก่อตั้งมาเป็นเวลานาน มักจะได้รับการยอมรับถึงวิธีการบริหารจัดการเพื่อให้ประสบความสำเร็จในแวดวงธุรกิจ และถูกใช้เป็นต้นแบบในการบริหารงานขององค์กรสมัยใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ต้นแบบจากองค์กรเหล่านั้นอาจจะไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีเสมอไปสำหรับองค์กรรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากข่าวการล่มสลายขององค์กรยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่งในระยะเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หรือผลิตภัณฑ์เหล่านั้นค่อยๆ หายไปจากท้องตลาดจากที่เคยอยู่อันดับหนึ่งเสมอมา ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือบางยี่ห้อหรือผู้ผลิตฟิล์มและกล้องถ่ายรูป ซึ่งหากมองผู้นำในปัจจุบันแล้วย้อนกลับไปสัก 5 ปี จะพบว่ามีการเปลี่ยนสลับหน้ากันมาแล้วทั้งสิ้น

สาเหตุที่ทำให้ผลิตภัณฑ์หรือองค์กรเหล่านั้นถูกแซงอันดับขึ้นไปหรือได้รับความนิยมลดน้อยลง ไม่ใช่จากสาเหตุในเรื่องของคุณภาพผลิตภัณฑ์ไม่ดี แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนไปตามกระแสโลกได้ไม่ทัน ซึ่งองค์กรเหล่านี้มักจะมีทรัพยากรและสะสมประสบการณ์ในการผลิตสินค้าคุณภาพมาเป็นเวลานาน แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคของสังคมเทคโนโลยีและสารสนเทศ ซึ่งเทคโนโลยีมีการขยับไปข้างหน้าแบบก้าวกระโดด กอปรกับคนรุ่นใหม่ก็ล้วนแล้วแต่ชื่นชอบกับการติดตามและใช้เทคโนโลยีใหม่เหล่านั้น ดังนั้นคุณภาพและประสบการณ์ที่มีอยู่อาจไม่เพียงพออีกต่อไป สิ่งที่องค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างรวดเร็วด้วยก็คือการนำเอาเทคโนโลยีล่าสุดมาผสมผสานกับผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อตอบสนองกับความต้องการอันหลากหลายของลูกค้า

การคงอยู่ขององค์กรในปัจจุบันนี้ ไม่ได้อาศัยเพียงความรู้ความสามารถและทรัพยากรต่างๆ ภายในขององค์กรเท่านั้น แต่องค์กรจะต้องมีความสามารถในการบริหารการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Management ซึ่งคำภาษาอังกฤษสั้นๆ เพียงสองคำนี้ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญระดับโลก ที่ทุกหน่วยงานต่างให้ความสนใจ มีการศึกษาการบริหารการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ มีการทำวิจัยและศึกษาในทุกระดับ กระทั่งมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นทางด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงถึงระดับปริญญาเอก

Change Management หรือการบริหารการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เป็นทฤษฎีที่ตายตัวแบบสมการคณิตศาสตร์ แต่การบริหารการเปลี่ยนแปลงเป็นศาสตร์ในการศึกษาปัจจัยต่างๆ ขององค์กรทั้งภายในและภายนอก โดยมีเป้าหมายหลักก็คือ การปรับตัวขององค์กรให้สามารถตอบสนองเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอกหรือแม้แต่ปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากภายในองค์กรเองก็ตาม

การบริหารการเปลี่ยนแปลง จะต้องมีการศึกษาปัจจัยแวดล้อมภายในและภายนอกขององค์กรอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังต้องศึกษาความเปลี่ยนแปลงภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยตรงด้วย อาทิ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หรือกระแสนิยมของคนรุ่นใหม่ เพื่อให้นักวิเคราะห์หรือนักบริหารการเปลี่ยนแปลงสามารถมองเห็นภาพรวมและทิศทางซึ่งเป็นภาพใหญ่ของสังคม โดยจะต้องมีการประยุกต์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการให้บริการหรือสินค้าขององค์กรเพื่อตอบกระแสความต้องการของกลุ่มลูกค้ายุคใหม่ให้ได้มากที่สุด

ปัจจัยด้านต่างๆ ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกประเด็น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ซึ่งปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่สำคัญนั้นมีอยู่มากมาย เช่น ปัจจัยภายในในเรื่องโครงสร้างขององค์กรเอง หรือปัจจัยด้านกลยุทธ์หรือแนวทางการดำเนินงานของผู้บริหารในแต่ละยุค หรือหากมองด้านสภาพแวดล้อมภายนอกก็จะมีปัจจัยที่สำคัญอยู่หลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านวัฒนธรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือแม้แต่ปัจจัยในเรื่องของการเมือง เป็นต้น ซึ่งนักบริหารการเปลี่ยนแปลงจะไม่สามารถทิ้งประเด็นใดประเด็นหนึ่งไปได้เลย หากแต่จะต้องรวบรวมและจัดลำดับความสำคัญแล้วพยายามวางแนวทางการรับมือและปรับเปลี่ยนการทำงานขององค์กรให้สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงที่สุด

หากองค์กรมีขั้นตอนและระบบการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ดีและรวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลานั้นอาจไม่ใช้อุปสรรคในการดำเนินงานขององค์กรอีกต่อไป แต่นั่นคือโอกาสและความก้าวหน้าขององค์กร เมื่อสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดและกลุ่มลูกค้าได้ตรงประเด็น ความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องไกลอีกต่อไป แต่เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว สิ่งที่จะลืมไปเสียไม่ได้ก็คือ การบริหารการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นตลอดเวลา หากหยุดเมื่อไรก็หมายความว่า องค์กรกำลังถอยหลังไปกับเวลาที่ผ่านไปด้วยนั่นเอง

This entry was posted in อินเตอร์เน็ต and tagged . Bookmark the permalink.

Comments are closed.